ทำไมต้อง "บ้านเรียน" ?
ทำไมต้อง "จัดการศึกษาโดยครอบครัว" ?
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ.2550 มาตรา 49
กำหนดให้บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึง
และมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ
หรือผู้อยู่ในภาวะอยากลำบากต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่งและการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น
การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชนการศึกษาทางเลือกของประชาชน
การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครอง
และส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ และมาตรา 50
บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการการศึกษาอบรม การเรียน การสอน การวิจัยและการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง
กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว
พ.ศ.2547 ได้กำหนดความหมายการศึกษาโดยครอบครัวว่า
เป็นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวแก่ผู้ ซึ่งครอบครัว หมายถึง บิดามารดา
หรือบิดา หรือมารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ และผู้จัดการศึกษาหมายถึง
บุคลคลในครอบครัวหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากครอบครัวนั้นให้จัดการศึกษาให้แก่บุตรหลานด้วยตนเอง
และจะต้องมีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย
เว้นแต่ผู้จัดการศึกษาผ่านการประเมินโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์ในการจัดการศึกษา
โดยมีผู้เรียนเป็นบุตรหรือบุคคล ผู้อยู่ในความปกครองของครอบครัว
(สกศ. 2551 หน้า 5-7)
การศึกษาโดยครอบครัว หรือ บ้านเรียน หมายถึง การศึกษาขั้นพื้นฐานที่ครอบครัวจัดให้แก่ผู้เรียนโดยสิทธิคุ้มครอง ตามกฎหมาย
ซึ่งมีรูปแบบการจัดการศึกษาแบบใดแบบหนึ่งหรือทั้งสามรูปแบบของการศึกษาในระบบ
การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
บนพื้นฐานของวัฒนธรรมไทยที่สถาบันครอบครัวเป็นรากฐานสำคัญที่สุดของชีวิต ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานการศึกษาชาติ
กล่าวโดยสรุปเพื่อให้เห็นภาพชัดถึงการจัดการศึกษาในบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๕) ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาโดยครอบครัวหรือบ้านเรียน ได้แก่
๑.บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี
ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย บุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ พิการ
ทุพพลภาพ บุคคลซึ่งมีความสามารถพิเศษ ต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ
ได้รับสิ่งอำนายความสะดวก
และรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความสามารถของบุคคลนั้น (มาตรา ๑๐)
๒.บิดา มารดา
หรือผู้ปกครองมีหน้าที่จัดให้บุตรหรือบุคคลซึ่งอยู่ในความดูแล
ได้รับการศึกษาภาคบังคับ และการศึกษานอกเหนือจากการศึกษาภาคบังคับ
ตามความพร้อมของครอบครัว (มาตรา ๑๑)
๓.ครอบครัวมีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
(มาตรา ๑๒)
๔.บิดา มารดา ผู้ปกครอง
และครอบครัวที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์จากรัฐ
ให้มีความรู้ความสามารถในการอบรมเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่บุตร เงินอุดหนุนการศึกษา
การลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายการศึกษาการเข้าถึงบริการทางการศึกษาและเทคโนโลยีทางการศึกษา
(มาตรา ๑๓ , ๑๔ , ๖๑ และมาตรา ๖๖)
๕.การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของครอบครัวมีสถานะเป็นสถานศึกษาเรียกว่า
ศูนย์การเรียน (มาตรา ๑๘)
และเมื่อเป็นสถานศึกษาก็เชื่อมโยงไปถึงบทบัญญัติอื่นๆ ได้แก่
๕.๑
อาจจัดการศึกษารูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้งสามรูปแบบ คือการศึกษาในระบบ
การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย (มาตรา ๑๕)
๕.๒
ต้องยึดแนวการจัดการศึกษา ตามหมวด ๔ (มาตรา ๒๒-๓๐)
๕.๓
การบริหารจัดการศึกษามีความผูกพันกับเขตพื้นที่การศึกษา (มาตรา ๓๔ , ๓๗)
๕.๔
เรื่องที่ได้รับการยกเว้นเป็นกรณีเฉพาะ :
ศูนย์การเรียนไม่ต้องมีคณะกรรมการสถานศึกษา (มาตรา ๔๐)ครู
ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาของศูนย์การเรียนไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ(มาตรา
๕๓)
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ก็ได้เน้นย้ำเจตนารมณ์เรื่องสิทธิเสรีภาพทางการศึกษาเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะในบทบัญญัติมาตรา ๔๙ ที่กล่าวว่า
“บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ผู้พิการหรือทุพพลภาพ
หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่ง และการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือองค์กรเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง
และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ”
บ้านเรียน จึงเป็นรูปแบบหนึ่ง
ในการศึกษาทางเลือกของประชาชน
โดยการใช้สิทธิการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของครอบครัว
ซึ่งนอกจากจะปรากฏชัดเจนในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติแล้ว
ยังได้รับการรับรองให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
กฎหมายสูงสุดของชาติอีกด้วย